top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSOS-Content Staffs

8 สัปดาห์กับการเดินทางของภูมิ!




ในช่วงเดือนกันยายนของปี 2022 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Chula Sustainability Fest 2022 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ในวันนั้นผมเดินเตร่ไปทั่วงาน แล้วจึงได้พบกับบูธของมูลนิธิ Scholars of Sustenance (SOS) ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับมูลนิธิฯ ในวันนั้นมีพี่เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาอธิบายเกี่ยวกับงานของมูลนิธิฯ พร้อมทั้งชักชวนให้ผมเข้าไปทำจิตอาสาพร้อมมอบนามบัตรให้ผม หลังจากได้รับมาผมคิดไว้เสมอว่าอยากไปสักครั้ง เพราะอยากหากิจกรรมอาสาทำอยู่แล้ว เวลาผ่านไปประมาณ 1 ปีที่ผมเก็บนามบัตรนั้นไว้แล้วจึงไปทำจิตอาสา นั่นทำให้ผมรู้จัก SOS มากขึ้น ในตอนนั้นผมได้ไปร่วม Food Rescue Program (FRP) ระหว่างทางได้พูดคุยกับพี่ Food Rescue Ambassador (FRA) พี่เขาได้ชักชวนให้ผมมาฝึกงานที่มูลนิธิฯ ผมเก็บตัวเลือกนี้ไว้ในใจ จนสุดท้ายผมก็ได้มาฝึกงานที่มูลนิธิ SOS 


ผมเริ่มฝึกงานที่มูลนิธิในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567 รวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ในตำแหน่ง Intern of Project, Innovation, and Data (PID) team ในวันแรกที่เข้าฝึกงานผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับองค์กรโดยภาพรวม และได้พูดคุยกับพี่เต้ซึ่งเป็น      ผู้ดูแลหลักตลอดระยะเวลาการฝึกงานในเรื่องข้อตกลง สวัสดิการ และภาพรวมงานทั้งหมดที่ผมได้รับมอบหมาย งานส่วนใหญ่ที่ผมได้รับมอบหมายเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลการบริจาคของมูลนิธิฯ เช่น การหาความสัมพันธ์ภาวะโลกเดือด (Global boiling) กับแนวโน้มการบริจาคผักในช่วง 2 ปีหลัง การวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกใน FRP นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลในบางวันผมได้รับมอบหมายให้ไปเรียนรู้การทำงานของฝ่าย Operations (OP) เช่น การไปช่วยคุณครูจัดทำสื่อการเรียนรู้ในการแยกอาหารที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ที่ศูนย์เด็กเล็กอัมพวา นอกจากนี้ยังมี 2 งานใหญ่ที่ต้องมีการนำเสนอ คือ การเขียนบทความในเรื่องใดก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิฯ โดยต้องวางแผนเก็บข้อมูลเอง และงานที่ได้รับความสำคัญสูงสุด คือ การวิเคราะห์ว่ามูลนิธิฯ จะกระจายอาหารได้ 50 ล้านมื้อเมื่อใดและหาวิธีการนำเสนอผลกระทบ





จากการทำงานทั้งหมดทำให้ผมได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นโดยเฉพาะ Microsoft Excel และได้เรียนรู้การใช้งาน Power BI และ Power Apps สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งหลังจากจบฝึกงานไป เพราะผมสนใจที่จะทำงานด้าน Data การเข้ามาฝึกงานในตำแหน่งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำงานในสายนี้จริง ๆ สิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานด้าน Data จากการฝึกงาน คือ การคิดนอกกรอบ เพราะบางครั้งด้วยทรัพยากรด้านข้อมูลที่จำกัด การติดกรอบความคิดว่าควรต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ถึงจะทำงานได้ จะทำให้งานไม่เดินหน้า ดังนั้นการประยุกต์ข้อมูลที่มีจำกัดจึงเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ผมได้รับจากการฝึกงานในตำแหน่งนี้





สังคมการทำงานใน SOS มีความเป็นกันเอง ผมรู้สึกว่าหากมาฝึกงานที่ SOS การที่จะรู้จักทุกคนในที่ทำงานก็ไม่แปลกมากนัก เพราะทุกคนพร้อมที่จะเข้าหาและพนักงานไม่เยอะเกินจนจำไม่ได้ พนักงานที่มีตำแหน่งสูงก็สามารถคุยเล่นได้เป็นปกติ นอกจากนี้กิจกรรมที่ผมคิดว่าทำให้สังคมของ SOS ต่างจากองค์กรอื่นคือ การทำและกินอาหารร่วมกัน เพราะองค์กรอื่นอย่างมากก็คงสั่งอาหารมากินด้วยกัน แต่ที่นี้ผมสามารถเดินลงไปในครัวแล้วร่วมกินอาหารที่เมนูขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ได้รับบริจาคในแต่ละวัน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผมไม่คิดว่าจะได้รับจากการฝึกงาน 





สิ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับ SOS มีหลายอย่าง อย่างแรกคือ ระบบการฝึกงาน ยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่าในตอนที่สมัครเข้าฝึกงาน ผมไม่คิดว่าตัวเองจะได้ทำงานด้าน Data เยอะขนาดนี้ คิดว่าฝึกงานในมูลนิธิฯ คงไม่เข้มข้นมากนัก แต่หลังจากฝึกงานก็รู้สึกว่าที่ SOS เป็นอีกหนึ่งที่ที่จัดการการฝึกงานเป็นระบบ โดยปฏิบัติกับนักศึกษาฝึกงานเสมือนเป็นพนักงานประจำคนหนึ่ง เช่น การให้โควตาการ Work from home เทียบเท่าพนักงานประจำ และการให้นำเสนอสรุปการฝึกงานทั้งหมดสำหรับนักศึกษาฝึกงานทุกคน รวมถึงตั้งแต่วันแรกที่เข้าฝึกงาน มีการกำหนดขอบเขตงานที่ชัดเจน โดยผมได้รับรายการงานทั้งหมดที่ต้องทำและรูปแบบผลงานที่ต้องการในแต่ละสัปดาห์ การทำแบบนี้จึงทำให้ผมรู้ว่าในแต่ละวันผมต้องทำอะไรและสามารถจัดการเวลาชีวิตของตนเองได้ถูกต้อง และยังเป็นหลักฐานที่ชัดเจนในการแสดงให้คนอื่นดูเวลาโดนถามว่าฝึกงานที่นี้ผมได้ทำอะไรบ้าง ผมคิดว่าการระบุงานทั้งหมดรวมไว้จะสามารถเป็นแนวทางของผมได้ในการจัดการงานส่วนตัวและการทำงานร่วมกันผู้อื่น  




อย่างที่สองคือ การได้ฝึกประสบการณ์นำเสนอ ในช่วงสุดท้ายของการฝึกงาน ผมถูกมอบหมายให้นำเสนอผลงานทุกชิ้นที่ได้ทำตลอดการฝึกงาน รวมถึงการนำเสนอความคืบหน้าประจำสัปดาห์ รวมการนำเสนอทั้งสิ้นเป็นจำนวน 7 ครั้ง โดยมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ผมเคยมีประสบการณ์นำเสนองานในมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่เคยนำเสนอโครงการระยะยาวที่ต้องการรายงานความคืบหน้า รวมถึงยังไม่เคยนำเสนอเชิงข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ การได้ฝึกฝนการนำเสนอระหว่างการฝึกงานทำให้ผมมีแนวทางของตัวเองในการนำเสนอในอนาคตมากขึ้น เพราะการนำเสนอหลาย ๆ ครั้งทำให้ผมสะสมคำแนะนำเพื่อพัฒนาการนำเสนอจนได้พบแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง





อย่างสุดท้ายคือ ความใส่ใจนักศึกษาฝึกงาน คำถามที่ผมมักได้รับเวลานั่งทำงานคือ เครียดไหม? ไหวไหม? ซึ่งเป็นคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและการสังเกตพนักงานด้วยกันเองซึ่งทำให้รู้สึกว่าถึงแม้ว่างานจะถาโถมแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็มีคนเห็นและรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยอยู่ รวมถึงในช่วงท้ายของการฝึกงาน มีการเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยถึงประสบการณ์โดยรวม ปัญหาที่เจอ ข้อแนะนำ และระบายความรู้สึกตลอดการฝึกงาน นอกจากนี้ในช่วงวันแรกที่พูดคุยถึงภาพรวมงาน ผมยังรู้สึกประทับใจที่พี่เต้บอกว่างานทั้งหมดที่ได้รับมอบหมายจะทำจะถูกเอาไปใช้จริง ไม่ปล่อยให้เป็นผลงานที่เปล่าประโยชน์ การพูดแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่างานที่กำลังจะทำมีคุณค่าทำให้มีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ดีมาก ๆ และผมคิดว่าหากตนเองได้ทำงานกับใครก็ตาม การใส่ใจเพื่อนร่วมงานจะเป็นหนึ่งสิ่งที่ผมจะทำเช่นเดียวกับที่ผมเคยได้รับในขณะฝึกงาน 




" โดยรวมแล้วผมรู้สึกดีใจที่ตัวเองเลือกตัดสินใจฝึกงานมูลนิธิ SOS ภาพที่ผมคาดหวังไว้ตอนแรกอาจไม่ได้มากนัก แต่สิ่งที่ผมได้รับมันมากกว่าความคาดหวังตัวเอง ผมมีความชำนาญในการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้น ผมได้ค้นหาตัวเอง ผมได้บทเรียน ผมได้มิตรภาพ และผมได้รับความเป็นห่วงเป็นใยจากพี่ ๆ ในมูลนิธิฯ "




----------------- ขอบคุณครับ ;) 

 ปิยทัศน์ คงบางปอ (ภูมิ)

 นักศึกษาฝึกงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะจิตวิทยา (ชั้นปีที่ 3)

ฝึกงานในทีมโครงการ นวัตกรรม และข้อมูลองค์กร

10 มิถุนายน - 2 สิงหาคม 2567


ดู 25 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page